top of page

พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยกับ IFRS 17 ตอนที่ 2


การสัมภาษณ์ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยกับ TFRS17 ตอนที่ 2

วิธีการคำนวณมูลค่าประเมินหนี้สินของสัญญาประกันภัย IFRS 17

มาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS 17 นี้ ได้กำหนดแบบจำลองสำหรับการคำนวณมูลค่าหนี้สินของสัญญาประกันภัยอยู่ 3 แบบ ดังนี้

  1. General Measurement Model (GMM) เป็นวิธีพื้นฐานที่นิยมใช้กันมากที่สุด ซึ่งถอดแบบมาว่าวิธีการ Building Block Approach (BBA) โดยแบ่งเป็น กระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันกรมธรรม์ (Fulfillment Cash Flows) ที่มี Risk Adjustment อยู่ในนั้น และตบท้ายด้วย Contractual Service Margin (CSM)

  2. Premium Allocation Approach (PAA) เป็นวิธีที่มองคล้าย ๆ กับ Unearned Premium Reserves (UPR) ส่วนใหญ่จะใช้กับสัญญาเพิ่มเติมของบริษัทประกันชีวิต และแบบประกันของบริษัทประกันวินาศภัย

  3. Variable Fee Approach (VFA) เป็นวิธีเฉพาะที่ใช้สำหรับแบบประกันที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือ Universal Life หรือ Unit Linked ที่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด ซึ่งในประเทศไทยนั้น มีเพียงเฉพาะ Unit Linked เท่านั้นที่ตรงตามเงื่อนไข และใช้วิธีนี้ได้ (สามารถอ่านเหตุผลเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ “แล้วแบบประกัน Universal Life กับ Unit Linked นั้นสามารถใช้วิธี General Measurement Model (GMM) ได้หรือไม่?” )


ในสมัยแรกเริ่มที่มีการร่างมาตรฐานของ IFRS 17 กัน จะมีวิธีการที่เรียกว่า Building Block Approach (BBA) ที่เป็นการแบ่งส่วนประกอบต่าง ๆ เหมือนกับการแยกก้อนอิฐมาวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จนมาตอนหลังถูกตั้งเป็นวิธีมาตรฐานทั่วไปและเรียกชื่อใหม่ว่า General Measurement Model (GMM) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับแบบประกันทั่วไปครอบจักรวาล


 

ส่วนประกอบสำคัญของ General Measurement Model (GMM)

  1. กระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันกรมธรรม์ (Fulfillment Cash Flows) เปรียบเสมือนต้นทุนของสัญญาประกันภัยที่มีภาระผูกพันต้องจ่ายกระแสเงินสดเฉลี่ยออกไปในแต่ละระยะเวลาในอนาคต โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ ในการคำนวณดังนี้

    • ประมาณการกระแสเงินสด Future Cash Flows จากสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยใช้การประมาณการที่ดีที่สุด (Best Estimate Assumption) ไม่ว่าจะเป็น อัตราการเจ็บป่วย อัตราการตาย อัตราการขาดอายุกรมธรรม์ และค่าใช้จ่าย เป็นต้น

    • เติมส่วนของ Risk Adjustment for Non-financial Risk เข้าไป เพื่อให้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และทำให้ผันผวน (Deviate) ไปจากการประมาณการที่ดีที่สุด (Best Estimate Assumption) ซึ่งการคำนวณนี้เราจะต้องเผื่อค่าความผันผวนในเชิงที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมามั่นใจว่าจะสามารถมีกระแสเงินสดเฉลี่ยออกมาจ่ายตามภาระผูกพันแม้ในวันที่จะมีความผันผวนก็ตามทำให้หลักการนี้คล้ายกับของ Risk Based Capital (RBC) ที่จะต้องมีการตั้ง Provision Adverse Deviation (PAD) ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี โดยตัวอย่างของสมมติฐานที่เป็น Non-Financial Risk ที่ต้องตั้งเผื่อก็จะมี อัตราการเจ็บป่วย อัตราการตาย อัตราการขาดอายุกรมธรรม์ ค่าใช้จ่าย เป็นต้น

    • นำกระแสเงินสดที่เกิดจาก สมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยจากการประมาณการที่ดีที่สุด (Best Estimate Assumption) และ Risk Adjustment for Non-Financial Risk มาคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันโดยใช้ อัตราคิดลด (Discount Rate)


  1. Contractual Service Margin (CSM) จะเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น กำไรทั้งหมดที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากสัญญาประกันภัย (Expected Contract Profit) ก็ว่าได้ วิธีคำนวณหาค่านี้ก็มาจากการหาผลต่างของค่า 2 ค่าต่อไปนี้

    • มูลค่าปัจจุบันของประมาณการกระแสเงินสดเฉลี่ยที่จ่ายตามภาระผูกพัน โดยภาระผูกพันที่ว่านี้ให้ประมาณการเสมือนหนึ่งว่าเบี้ยทั้งหมดที่จะได้รับมาในอนาคตจะไม่มีกำไรเลย โดยจะเอาไปใช้จ่ายภาระผูกพันกรมธรรม์จนหมด

    • มูลค่าปัจจุบันของประมาณการกระแสเงินสดออก (Cash Outgo) ของ Fulfilment Cash Flows เมื่อเอาส่วนต่างของมูลค่าปัจจุบันระหว่าง “หนี้สินที่ตั้งใจว่าจะไม่มีกำไร” มาหักออกด้วย “หนี้สินจาก Best Estimate + Risk Margin” แล้ว ก็จะได้ “กำไรที่คาดหวัง” ในรูปของ Contractual Service Margin (CSM)


ทั้งนี้ ถ้าเป็นกรมธรรม์ที่เพิ่งขายในวันแรก (Inception) นั้น สามารถจะนำวิธีลัดในการคำนวณ Contractual Service Margin (CSM) โดยหยิบจาก มูลค่าปัจจุบันของ Fulfilment Cash Flows ได้เลย เพราะแบบประกันที่มีกำไรทุกครั้งจะมี มูลค่าปัจจุบันของ Fulfilment Cash Flows ที่เป็นลบ (เปรียบเหมือนใน Risk Based Capital (RBC) ที่ Gross Premium Valuation ในปีแรกจะติดลบ ถ้าแบบประกันเป็นแบบที่ไม่ขาดทุน) และสามารถนำค่านั้นเป็น Contractual Service Margin (CSM) ตรง ๆ ได้เลย



เมื่อนำ General Measurement Model (GMM) มาใช้แล้วเวลาผ่านไปจะบันทึกบัญชีอย่างไร


General Measurement Model (GMM) การบันทึกบัญชี TFRS17


  1. Contractual Service Margin (CSM) จะทยอยรับรู้กำไร โดยการ Release ออกมา ซึ่งการ Release มูลค่า CSM ออกมา จะทำให้ CSM ลดลง และส่วนที่ลดลงนั้นจะรับรู้ออกมาเป็นกำไรเข้างบกำไรขาดทุน อนึ่ง CSM นั้น จะถูกบันทึกบัญชีอยู่ในส่วนของหนี้สิน (Liability) เพราะถือว่าเป็นกำไรที่ยังไม่สามารถรับรู้ได้ และมูลค่าของ CSM นั้น ยังต้องนำมาเปรียบเทียบกับงบดุลอีกด้วย เพราะเคยเกิดกรณีที่ว่า CSM มีค่ามากเกินไป จนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ติดลบไปเลย ในกรณีนี้ก็จะต้องจำกัด CSM ไม่ให้มีค่ามากเกินไป จนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ติดลบ


  2. Future Cash Flows จากสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เกิดจากการประมาณการที่ดีที่สุด (Best Estimate Assumption) และRisk Adjustment for Non-Financial Risk นั้นแบ่งเป็น การมองอดีต/ปัจจุบัน กับ การมองอนาคต ที่แยกพิจารณากันดังต่อไปนี้

    • เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการประมาณการกระแสเงินสดเฉลี่ยที่เกี่ยวข้องกับบริการในอดีต และปัจจุบันแล้วนั้น ก็ให้กระทบลงงบกำไรขาดทุน ได้เลย

    • แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการบริการในอนาคตแล้ว ส่วนใหญ่นั้นจะนำกลับไป สมทบ/หักออกจาก Contractual Service Margin (CSM) หรือในกรณีที่ขาดทุนจนกระทั่งหัก Contractual Service Margin (CSM) ออกไปหมดแล้วก็ยังไม่พอ ก็จะต้องนำส่วนที่เหลือ (ที่ยังหักไม่หมด) ไปกระทบลงงบกำไรขาดทุน เพราะนั่นหมายถึงว่า สัญญาประกันภัยเกิด Onerous ขึ้นมาแล้ว และต้องบันทึกเป็นขาดทุน และรับรู้ในงบกำไรขาดทุนในทันที


  3. อัตราคิดลด (Discount rate) ในมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับ IFRS 17 นี้ มีความตั้งใจที่จะให้แบ่งออกมาสะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free Rate) และอัตราดอกเบี้ยที่ชดเชยการขาดสภาพคล่องจากสัญญาประกันภัย (Illiquidity Premium) ซึ่งวิธีการหาอัตราคิดลด (Discount rate) นี้ สามารถใช้วิธี Top-Down Approach หรือ Bottom-Up Approach ก็ได้

    • วิธี Top-Down Approach สามารถหาได้จาก การนำผลตอบแทนจากการลงทุนของพอร์ต (Portfolio Yield) มาหักออกด้วยอัตราดอกเบี้ยส่วนที่ชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ซึ่งแปลว่า Discount Rate = Portfolio Yield – Credit Risk

    • วิธี Bottom-Up Approach สามารถหาได้จากการนำอัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free Rate) มาบวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ชดเชยการขาดสภาพคล่องจากสัญญาประกันภัย (Illiquidity Premium) ได้โดยตรง ซึ่งแปลว่า Discount Rate = Risk Free Rate + Liquidity Risk และ Portfolio Yield = Risk Free Rate + Liquidity Risk + Credit Risk


อีกประเด็นหนึ่งที่มาตรฐาน IFRS 17 ได้เล็งเห็นความสำคัญ และพัฒนาเพิ่มเติมมาจาก IFRS 4 คือ เรื่องการพยายามทำให้สัญญาประกันภัยที่มีการประมาณการกระแสเงินสดเหมือนกัน สามารถคำนวณออกมามีมูลค่าเท่ากัน ซึ่งภายใต้ IFRS 4 ในปัจจุบันนี้ทำไม่ได้เพราะ IFRS 4 ไปใช้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทตัวเองมาใช้เป็นอัตราคิดลดด้วย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการลงบัญชีขึ้น


มาตรฐาน IFRS 17 นี้ยังสามารถแบ่งกระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันของกรมธรรม์ (Fulfilment Cash Flows) ออกมาเป็นแบบที่แปรผันต่อตัวแปรที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Varying Fulfilment Cash Flows) เช่น การจ่ายเงินมูลค่าเวรคืนกรมธรรม์ออก (Expected Surrender Outgo) หรือ การจ่ายทุนประกันชีวิต (Death Benefit Outgo) ที่ผูกอยู่กับมูลค่าบัญชี (Account Value) ของแบบประกันพ่วงการลงทุน (United Link Product) เป็นต้น


กับอีกแบบที่ไม่ได้แปรผันต่อตัวแปรที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Non-varying Fulfilment Cash Flows) เช่น กระแสเงินสดทั่วไปอย่างการจ่ายทุนประกันชีวิตของแบบประกันทั่วไป หรือ การจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งกระแสเงินสดเหล่านี้ไม่ได้มีค่าเปลี่ยนไป เมื่อความเสี่ยงหรือตัวแปรทางด้านการเงินเปลี่ยนไป


โดยหลักการแล้ว Varying Fulfilment Cash Flows และ Non-varying Fulfilment Cash Flows จะใช้อัตราคิดลดคนละตัวกันได้ เพื่อให้สะท้อนชนิดของกระแสเงินสดนั้น โดย Non-varying Fulfilment Cash Flows นั้นจะใช้เพียงแค่ อัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free Rate) ส่วน Varying Fulfilment Cash Flows จะใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเพราะรวมความเสี่ยงทางด้านการเงินเข้าไปด้วย


ทั้งนี้ ถ้าไม่อยากใช้อัตราคิดลดที่แยกออกจากกันแบบนี้ มาตรฐาน IFRS 17 ก็ยอมให้ใช้กระแสเงินสดชุดเดียว และอัตราคิดลดแบบ Risk-neutral ได้เช่นกัน


เมื่อทราบขั้นตอนในการหาอัตราคิดลด (Discount Rate) แล้วต่อจากนี้ก็ให้ลองมาพิจารณาการนำผลลัพธ์ไปประยุกต์บ้าง โดยเราสามารถพิจารณาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยออกเป็น 2 ส่วนได้ดังนี้

  1. ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่ตั้งเป้าว่าจะลงทุนได้เพื่อจ่ายภาระผูกพันของกรมธรรม์ (Insurance Finance Expense at Locked in Discount Rate) ซึ่งเป็นตัวที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะกำหนดไว้เสมอว่าเงินสำรองกรมธรรม์จะมีการเติบโตขึ้นจากดอกเบี้ย (Unwind) เป็นเท่าไรต่อปี และโดยปกติแล้วค่าอัตราดอกเบี้ยนี้จะถูกคำนวณไว้ตั้งแต่ตอนออกแบบประกันภัยไว้แต่แรกแล้ว บางครั้งในมาตรฐาน IFRS 4 เราเรียกมันว่า Valuation Interest Rate หรือบางคนอาจจะเรียกมันว่า Target Profit Rate ก็ไม่ผิดนัก เพราะมันคืออัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเอาไว้ในตอนที่ออกแบบประกันภัย และตั้งใจไว้ว่าแบบประกันนี้จะต้องลงทุนให้ได้จึงจะได้กำไรเท่ากับที่คาดหวังไว้ โดยดอกเบี้ยในส่วนนี้ถือเป็นการดำเนินงานอย่างหนึ่งของธุรกิจประกันภัยที่ต้องทำให้เงินเติบโตตามที่คาดหมายไว้


ส่วนเกินหรือส่วนต่างจากส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่ตั้งเป้าว่าจะลงทุนได้เพื่อจ่ายภาระผูกพันของกรมธรรม์ (Investment Return > Locked-in Rate) นั้นจะสามารถนำส่วนเกินจากส่วนแรกที่กล่าวมาอยู่ในรูปแบบ Investment Margin ได้ ซึ่งจะนำไปลงบัญชีใน Insurance Investment Result บนงบกำไรขาดทุนได้


การรายงานทางการเงินตามมาตรฐาน TFRS17





























แล้วประกันวินาศภัยต้องคำนวณโดยวิธี General Measurement Model (GMM) เท่านั้นหรือ?

สำหรับการรายงานทางการเงินตามมาตรฐาน IFRS17 มีความยืดหยุ่นมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ โดยแม้ว่าประกันวินาศภัยส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสัญญาระยะสั้น (Short Duration Contracts) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ General Measurement Model (GMM) เพียงอย่างเดียวเสมอไป


หนึ่งในแนวทางที่ถูกนำเสนอเป็นทางเลือกคือ Premium Allocation Approach (PAA) ซึ่งสามารถใช้ได้กับสัญญาประกันระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุสัญญาไม่เกินหนึ่งปี หรือในกรณีที่ผลลัพธ์จาก PAA ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ GMM การอนุญาตให้ใช้ PAA นี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ IFRS 17 ที่มุ่งหมายให้สอดคล้องกับลักษณะของสัญญาประกันที่ดำเนินการจริง และทำให้บริษัทสามารถใช้แนวทางที่ง่ายขึ้นสำหรับการคำนวณหนี้สิน


PAA มีความคล้ายคลึงกับการคำนวณ Unearned Premium Reserve (UPR) ที่เคยใช้ในระบบการคำนวณแบบ Risk-Based Capital (RBC) โดยจะมุ่งเน้นไปที่การรับรู้เบี้ยประกันที่ค้างรับสำหรับช่วงระยะเวลาที่เหลือของสัญญา ซึ่งเป็นวิธีที่คุ้นเคยสำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ทำให้การปรับตัวมาใช้ PAA ภายใต้ IFRS 17 ไม่ซับซ้อนเกินไป


แม้ว่าบริษัทประกันวินาศภัยส่วนใหญ่จะขายสัญญาระยะสั้น แต่ก็มีบางกรณีที่การใช้ PAA อาจไม่เพียงพอ เช่น

  • หากมีการคาดการณ์ว่าจะมีการจ่ายค่าสินไหมในระยะยาว (เกินหนึ่งปี)

  • หากการประมาณการสำรองหนี้สินต้องพิจารณาผลกระทบจากปัจจัยเชิงเวลา และการปรับลดมูลค่าเงิน (Discounting)


ในกรณีดังกล่าว บริษัทจะต้องใช้วิธี GMM ซึ่งซับซ้อนกว่า เพราะต้องคำนวณกระแสเงินสดในอนาคต และรับรู้การเปลี่ยนแปลงในหนี้สินได้อย่างแม่นยำ ทำให้บริษัทต้องจัดทำสำรองในลักษณะที่แตกต่างไปจากระบบเดิม


สำหรับโลกของการตั้งสำรองประกันภัย และการลงงบการเงินตามหลักมาตรฐานสากลของธุรกิจประกันภัยนั้น จะไม่ได้ดูกันที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจว่าเป็นบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย หากแต่ดูที่ลักษณะของตัวสัญญาว่าเป็นสัญญาประกันภัยระยะยาว (Long Duration Contract) หรือสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) เสียมากกว่า ดังจะเห็นได้ว่า บริษัทประกันชีวิตสามารถขายสัญญาประกันภัยระยะสั้น (Short Duration Contract) และใช้วิธี Premium Allocation Approach (PAA) ได้ และในขณะเดียวกัน บริษัทประกันวินาศภัยก็สามารถขายสัญญาประกันภัยระยะยาว (Long Duration Contract) ได้ เช่น ประกันที่คุ้มครองมะเร็ง เป็นต้น


 

ตอนที่เริ่มคำนวณ และทำครั้งแรกต้องทำอย่างไร?

หลายคนคงสงสัยว่าในเมื่อหลักการของมาตรฐานใหม่มันเปลี่ยนไปมากอย่างนี้แล้ว ในวันแรกที่ต้องนำมาตรฐาน IFRS 17 มาปฏิบัติใช้นั้นจะต้องทำอย่างไร คำนวณอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่อง Contractual Service Margin (CSM) ที่ต้องฝังไปกับกรมธรรม์แต่ละตัวนั้นจะทำอย่างไร


ในเมื่อบริษัทประกันภัยได้ขายกรมธรรม์ไปแล้ว อยู่ดี ๆ เราจะประเมินมูลค่าสัญญาประกันภัยพร้อมกับ Contractual Service Margin (CSM) ที่ว่านั้น ภายใต้มาตรฐานใหม่ได้ ก็ควรจะมองย้อนเวลากลับไปเสมือนหนึ่งตั้งแต่วันแรกที่เริ่มขายแล้วหมุนเวลากลับมาเป็นตอนนี้ว่าประเมินเป็นมูลค่าได้เท่าไร


วิธีการแรกนี้เรียกว่า Full Retrospective Approach (FRA) (ย้อนเวลากลับไป) ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว เราคงไม่ได้เก็บข้อมูลย้อนหลังเอาไว้ได้ทั้งหมด วิธีการนี้จึงนำมาปฏิบัติได้ยากมาก ซึ่งมาตรฐาน IFRS 17 นี้สามารถยอมให้ใช้วิธีการประมาณการจากอดีตโดยใช้ตัวแปรประมาณการ (ไม่ต้องเก็บข้อมูลจริง) มาได้ ซึ่งวิธีที่สองนี้เรียกว่า Modified Retrospective Approach (MRA)


วิธีการดังกล่าวนี้ก็เหมือนกับตอนที่บริษัทประกันชีวิตต้องการเปลี่ยนวิธีการคำนวณเงินปันผลสำหรับผู้ถือกรมธรรม์ซึ่งจะประเมินใหม่ว่าเป็นเท่าไร ก็ต้องทำเสมือนหนึ่งย้อนเวลากลับไปศึกษาประสบการณ์ (Experience Study) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของแต่ละกรมธรรม์นั่นเอง ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะใช้วิธีการประมาณการจากอดีตโดยใช้ตัวแปรประมาณการเอา จึงเหมือนกับเป็นการ Modified จากวิธี Full Retrospective Approach (FRA) อย่างหนึ่งนั่นเอง


ข่าวดีก็คือ ถ้าเราไม่อยากใช้วิธีการ Full Retrospective Approach (FRA) ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีการมองไปข้างหน้าแบบ Prospective วิธีการที่สามนี้จะเรียกว่า Fair Value Approach (FVA) ซึ่งทำได้โดยการคำนวณหา Contractual Service Margin (CSM) มาจากมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) หักออกด้วย มูลค่าปัจจุบันของ Fulfilment Cash Flow (กระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันของกรมธรรม์) ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากวิธีการคำนวณแบบ General Measurement Model (GMM) ของ IFRS 17 ที่ได้กล่าวมาข้างต้น


 

สิ่งน่ากลัวที่ไม่ควรมองข้าม…

ในมาตรฐานใหม่นี้ มีจุดหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม คือไม่มี Balancing Items หรือช่องที่เรียกว่า “อื่น ๆ (Others)” ในหมายเหตุประกอบงบ (Disclosure) อีกต่อไป แสดงว่าเวลาที่คำนวณแล้วได้ตัวเลขไม่ลงตัว ก็จะไม่มีช่องให้หยอดลง ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นปัญหาใหญ่อยู่ไม่น้อยสำหรับคนในระดับปฏิบัติงาน เพราะใครที่เคยคำนวณ และกระทบยอดจะรู้ดีว่ามันอาจจะมีความแตกต่างที่ไม่กระทบยอดอยู่บ้าง แม้ว่าค่าที่แตกต่างมันจะเป็น 0.1% ก็ตาม


ทั้งนี้ เราคงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า ถ้ามันกระทบยอดไม่ได้จริง ๆ แล้วมันจะไปใส่ลงในที่ไหน สำหรับเรื่องนี้ ทางที่ดีก็ควรปรึกษาหรือแจ้งผู้สอบบัญชีไว้แต่เนิ่น ๆ ครับ



ประกัน Universal Life กับ Unit Linked นั้นสามารถใช้วิธี General Measurement Model (GMM) ได้หรือไม่?

คำตอบคือมันมีวิธีการคำนวณอีกแบบหนึ่งสำหรับบริษัทที่ขายแบบประกันพวกนี้ครับ วิธีนี้เรียกว่า Variable Fee Approach (VFA) ซึ่งหลักการก็คล้ายกับวิธี General Measurement Model (GMM) เพียงแต่จะมีคุณลักษณะเพิ่มเติมจากการเป็น Participating Contracts (แบบประกันที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประกอบการด้วย) โดยตรง ซึ่งแบบประกันแบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล (Participating Product) ของธุรกิจประกันชีวิตนั้น ถึงแม้ชื่อจะคล้ายแต่ไส้ในนั้นยังไม่ได้มีกลไกลในการผูกสูตรการจ่ายเงินปันผลแบบนี้ (หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่ได้มีลักษณะเป็น Profit Sharing อย่างแท้จริงจึงยังต้องใช้ General Measurement Model (GMM) เหมือนเดิม จะมีก็แต่พวก Universal Life กับ Unit Linked ที่สามารถคำนวณโดยใช้วิธีการนี้ได้ ถ้าเข้าเงื่อนไขดังกล่าวและมีการแยก fund ของสินทรัพย์ออกมาอย่างชัดเจน เนื่องจาก Universal Life ที่ขายในประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้มีการแยก fund ของสินทรัพย์ออกมาอย่างชัดเจน จึงยังทำให้ไม่สามารถใช้วิธี Variable Fee Approach (VFA) ได้


 

เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนจะเข้าใจหรือ?

อันนี้เป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลย เพราะงบการเงินของธุรกิจประกันนั้นจะเปลี่ยนไปอย่างมากจากการใช้มาตรฐานใหม่นี้ และอาจจะทำให้คนที่คุ้นเคยกับการอ่านงบการเงินเดิมนั้นจะสับสนหรืออาจตีความผิดได้ โดยเฉพาะกับคนที่ยังไม่เข้าใจดีพอกับวิธีการอ่านงบการเงินตามมาตรฐานใหม่ ดังนั้น ก่อนการนำมาตรฐาน IFRS 17 นี้มาใช้ ก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้นักลงทุน เจ้าของกิจการ พนักงาน ผู้ถือกรมธรรม์ รวมถึงสื่อต่าง ๆ ให้เข้าใจเป็นภาพเดียวกันก่อนว่าจะมีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แม้ว่าตอนแรกจะดูเหมือนซับซ้อน และเข้าใจยากไปบ้างแต่มาตรฐานใหม่นี้จะแยกส่วนประกอบของการพิจารณารับประกันกับการลงทุนออกอย่างชัดเจน อีกทั้งยังนิยามการรับรู้รายได้/รายรับจากค่าธรรมเนียม (ไม่ใช่เบี้ยประกันภัย) อีกต่อไป ทำให้ประกันชีวิต และประกันวินาศภัยเปรียบเทียบกันเองได้ และเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นได้ นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความเข้าใจเรื่องของการรับรู้กำไร และขาดทุนว่ามันจะสะท้อนออกมาแบบไม่สมมาตรอีกต่างหาก หัวใจหลักจึงอยู่ที่หลักการของเรื่อง Onerous Contract (เวลาขาดทุน) กับ Contractual Service Margin (CSM) (เวลากำไร) อีกด้วย


มาตรฐาน TFRS17

สิ่งที่จะเห็นได้ชัดหลังจากการใช้มาตรฐาน IFRS 17 นี้ ก็คือการรับรู้รายได้ของเบี้ยประกันชีวิตจะลดฮวบลงมาอย่างมาก เพราะเปรียบเสหมือนการคิดจากค่าธรรมเนียมเท่านั้น (ไม่สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมารับรู้เป็นรายได้อีกต่อไป) ในส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้รายได้ และการแตกงบการเงินหลายรายการที่ซับซ้อนขึ้นเช่นกัน หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าธุรกิจประกันภัยรายได้หดหาย และอาจทำให้ตลาดหุ้นผันผวนไปได้ ถ้านักลงทุนไม่ได้เข้าใจมาตรฐาน IFRS 17 นี้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบบประกันสะสมทรัพย์ที่ขายผ่านธนาคารจะได้รับผลกระทบกับความเข้าใจผิดนี้มาก เนื่องจากจะไม่สามารถรับรู้เบี้ยประกันภัยได้อีกต่อไป เช่น เบี้ยประกันภัย 1 แสนบาท อาจจะรับรู้เป็นเหมือนเพียงค่าธรรมเนียมได้แค่ 1 พันบาทเป็นรายได้เท่านั้น


สำหรับธุรกิจประกันชีวิตยิ่งมีเรื่องการรับรู้กำไร และขาดทุนที่ไม่เหมือนกัน ถ้าขาดทุนก็ต้องรับรู้ทั้งหมดเลย แต่ถ้ากำไรต้องทยอยรับรู้จนกว่าจะหมดสัญญา แปลว่า มาตรฐาน IFRS 17 นี้จะทำให้บริษัทประกันชีวิตรับรู้กำไรได้ช้าลงกว่ามาตรฐานเดิมที่เคยใช้อยู่ อย่างไรก็ดี มันทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปใหญ่ว่า มาตรฐานใหม่นี้จะทำให้กำไรลดลง ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร


นอกจากนี้แล้ว IFRS17 ยังจะช่วยทำให้ธุรกิจประกันภัยนั้น สามารถรับรู้กำไรได้อย่างสม่ำเสมอ (Smooth Profit) และไม่เหวี่ยงขึ้นลงเหมือน IFRS 4


ขอย้ำอีกครั้งครับว่า มาตรฐาน IFRS 17 นี้ ไม่ได้ทำให้การรับรู้กำไรของธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัยลดลงแต่อย่างไร มีเพียงธุรกิจประกันชีวิตที่จะรับรู้กำไรได้ช้าลง (เป็นเพียงแค่ profit pattern ในแต่ละปีเปลี่ยนไป) แต่เมื่อนับกำไรรวม (Total Profit) แล้วก็จะยังคงเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานฉบับเดิม (IFRS 4) หรือ มาตรฐานฉบับใหม่ (IFRS 17) ก็ตาม



มี IFRS 17 แล้วต้องมี RBC อีกหรือไม่?

เราอย่าเพิ่งสับสนระหว่าง IFRS 17 (International Financial Reporting Standard 17) กับ RBC (Risk Based Capital) เพราะวัตถุประสงค์ของแต่ละตัวนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดย IFRS 17 นั้นเป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เอาไว้ใช้กับงบการเงิน ซึ่งจะกระทบกับงบกำไรขาดทุน และงบดุล รวมถึงหมายเหตุประกอบงบด้วย แต่สำหรับ RBC แล้วเป็นการคำนวณความสามารถในการชำระหนี้ได้ในอนาคต ซึ่งภาษาทั่วไปเรียกกันว่า Solvency Ratio และถ้าให้เจาะจงสำหรับ RBC แล้วจะถูกเรียกว่า Capital Adequacy Ratio (CAR) นั่นเอง ซึ่งการคำนวณ RBC นั้นจะมุ่งเน้นไปที่งบดุลเป็นหลัก IFRS17 ต้องการที่จะสะท้อนผลประกอบการบริษัทลงในงบการเงิน ส่วน RBC ต้องการสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท (มีเงินจ่ายผลประโยชน์คืนให้กับผู้ถือกรมธรรม์)


ผลลัพธ์ที่ได้ของ IFRS 17 คือ งบการเงินตามมาตรฐานบัญชีสากล ส่วนผลลัพธ์ของ RBC คือ Capital Adequacy Ratio (CAR) ตามพรบ.ประกันชีวิตและพรบ.ประกันวินาศภัย


ผู้ที่อยู่ในคณะทำงานหลักของ IFRS 17 จะมาจากสภาวิชาชีพบัญชี ส่วนผู้ที่อยู่ในคณะทำงานหลักของ RBC คือ คปภ. อย่างไรก็ตาม ทางคปภ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และก็กำลังจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาผลกระทบของ IFRS 17 เช่นกัน


ตารางแสดงวัตถุประสงค์ของ TFRS 17 กับ RBC

ถึงแม้วัตถุประสงค์ของ IFRS 17 กับ RBC จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ทั้งคู่ก็เป็นมาตรวัดที่ทั่วโลกนิยมเอามาใช้คู่กัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เห็นภาพในมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งนักบัญชี นักคณิตศาสตร์ประกันภัย และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องนั้น จำเป็นจะต้องศึกษา และนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กร และภาคธุรกิจให้เชื่อมต่อกัน และผลักดันให้ธุรกิจนั้นเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแพลตฟอร์ม (Platform) ที่จะพลิกโฉมธุรกิจประกันภัยในไม่ช้านี้



ความเหมือน และความแตกต่างระหว่าง IFRS 17 กับ VoNB/VIF

VoNB (Value of New Business) และVIF (Value of Inforce) เป็นคำที่คุ้นเคยกันดีทั้งภาคธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยในเวลาที่ต้องการประเมินราคาหุ้นหรือมูลค่ากิจการของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นวิธีที่ใช้กันในตอนที่ต้องมีการควบรวมกิจการ


Contractual Service Margin (CSM) ในวันที่ออกกรมธรรม์นั้นเปรียบเทียบได้กับ Value of New Business (VoNB)


Contractual Service Margin (CSM) ในเวลาต่อมาหลังจากที่ออกกรมธรรม์ไปแล้วนั้น เปรียบเทียบได้กับ Value of Inforce (VIF) โดย Contractual Service Margin (CSM) จะมองจากอดีตจนมาถึงวันนี้ (Retrospective) แต่ Value of Inforce (VIF) จะเป็นการมองจากอนาคตข้างหน้ามาเป็นวันนี้ (Prospective)


ทั้งนี้ จะเห็นว่า Contractual Service Margin (CSM) ในมาตรฐาน IFRS 17 จะไปลดความสำคัญของการคำนวณแบบ VoNB/VIF ลง และการตั้ง Key Performance Index (KPI) ของบริษัทประกันในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากการใช้ VoNB/VIF มาเป็น Contractual Service Margin (CSM) ของมาตรฐาน IFRS 17 แทน


ผู้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับ TFRS17

บทส่งท้าย

เนื่องจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย เป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินที่มีผลกระทบต่อการจัดประเภท และวัดมูลค่า ตลอดจนการแสดงรายการ และการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีสาระสำคัญต่อธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัย อีกทั้งยังเป็นมาตรฐานที่ต้องร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น คณิตศาสตร์ประกันภัย การบัญชี หรือแม้แต่กระทั่งการลงทุน หลายหน่วยงานในธุรกิจประกันภัยได้ตระหนักถึงความสำคัญและเตรียมติดอาวุธทางความรู้ให้พร้อมเพื่อการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว และได้ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อที่จะได้นำมาตรฐานนี้ไปใช้ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคธุรกิจ


จากที่อ่านมาตรฐานฉบับนี้แล้ว สิ่งหลัก ๆ ที่เปลี่ยนโฉมธุรกิจประกันภัย มีดังนี้

  1. วิธีการรับรู้รายได้ ที่เปลี่ยนจากเบี้ยประกันภัย (Premium) ให้เป็นเหมือนค่าธรรมเนียม (Service Fee)

  2. วิธีการรับรู้กำไร/ขาดทุนตั้งแต่วันแรกแบบอสมมาตร (Asymmetry) ซึ่งเมื่อเวลาขาดทุน (Onerous Contract) ก็จะให้บันทึกขาดทุนลงทันที แต่เวลาที่กำไรก็จะให้ทยอยรับรู้ (แบบ Contractual Service Margin)

  3. วิธีการรับรู้ส่วนของกำไร/ขาดทุนหลังจากที่ได้ขายกรมธรรม์แล้ว ซึ่งต้องเก็บบันทึก (Keep Record) สิ่งที่เคยลงกำไรหรือขาดทุนไปแล้วตลอดเวลา เนื่องจากความเป็นอสมมาตร (Asymmetry) ในการรับรู้ทั้งสองขาที่แตกต่างกัน

  4. กำไรจะถูกนิยามให้ละเอียดขึ้นโดยแบ่งเป็น Underwriting Performance และ Investment Performance

  5. การคำนวณสำรองกรมธรรม์ประกันภัยแบบ Building Bloch Approach (BBA) ซึ่งในมาตรฐานนี้เรียกว่า General Measurement Model (GMM) และวิธีการคำนวณแบบเฉพาะเจาะจงไม่ว่าจะเป็น Premium Allocation Approach (PAA) ที่ธุรกิจประกันวินาศภัยจะใช้เป็นหลัก และ Variable Fee Approach (VFA) ที่บริษัทประกันชีวิตที่ขาย Universal Life (มีการแยก fund ของสินทรัพย์ออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งที่ขายในประเทศไทยอยู่ยังไม่เข้าเงื่อนไขนี้) หรือ Unit Linked ต้องนำมาใช้


สิ่งที่ต้องย้ำอีกครั้งคือ มาตรฐานฉบับนี้ ถึงแม้จะทำให้การรับรู้รายรับ/รายได้ (Revenue / Income) เปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้กำไรทั้งหมดเปลี่ยน (No change in Total Profit) สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือการทยอยรับรู้กำไร (Change in Profit Pattern / Profit Emergence) ในแต่ละปีเท่านั้น ที่อาจจะทยอยรับรู้ได้ช้าลง


และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเตรียมตัวให้พร้อมกับมาตรฐานบัญชีฉบับนี้ คือ เรื่องการเตรียมข้อมูล (Data) การเตรียมระบบ (System) การเตรียมกระบวนการ (Process) และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การเตรียมความรู้ให้กับบุคคลากร ผู้บริหาร รวมถึงนักลงทุนทั่วไปมีคนบอกว่าใครเข้าใจมาตรฐานฉบับนี้แล้ว รับรองว่าสามารถเกษียณได้เร็วขึ้น เพราะงานนี้พอยิ่งได้ศึกษามากเท่าไรแล้ว ก็ยิ่งรู้ว่ามันซับซ้อนมากแค่ไหน และก็ยิ่งอยากเกษียณเร็วขึ้นเท่านั้น

 

สุดท้ายแล้ว ในฐานะอดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ผมคิดว่าการนำมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่องสัญญาประกันภัย (IFRS 17) มาใช้นี้ จะทำให้งบการเงินโปร่งใส เข้าใจง่าย และเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้งบการเงินของธุรกิจประกันภัยเป็นที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หากแต่การนำมาปฏิบัติใช้ และต้นทุนในการจัดทำรายงานงบการเงินตามมาตรฐานสากลนี้ ยังคงต้องวางแผนอย่างละเอียด และจัดทำให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลาการ ในการสร้างความเข้าใจให้กับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้านต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงของบทบาท และความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่คงจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงความพร้อมของการจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ระบบซอฟท์แวร์ ระบบดำเนินงาน และการเชื่อมโยงกับระบบที่มีอยู่เดิมของบริษัทประกันภัย เพื่อให้ประโยชน์เกิดขึ้นสูงสุดกับภาคธุรกิจ และส่วนรวม ด้วยต้นทุน และระยะเวลาในการจัดทำที่ควบคุมได้ จึงจะเรียกได้ว่าเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง


 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น


Comments


bottom of page