top of page

พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยกับ IFRS 17 ตอนที่ 1

บทสัมภาษณ์ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัย TFRS 17

ทราบกันหรือไม่ว่าตอนนี้บริษัทประกันภัยโดยเฉพาะนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและนักบัญชีนั้นกำลังตื่นตัวกันทั่วโลกกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินตัวใหม่แกะกล่องที่มีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกถกเถียงกันมาเกือบ 20 ปี เกี่ยวกับเรื่อง “สัญญาประกันภัย” ว่าควรจะจัดประเภทอย่างไร วัดมูลค่าอย่างไร หรือเปิดเผยข้อมูลอย่างไร ให้ดูเหมาะสมมากยิ่งขึ้น


บางคนอาจจะถามดัง ๆ ในใจออกมาว่า “แล้วมาตรฐานตอนนี้มันไม่เหมาะสมหรือ?” ซึ่งถ้าจะฟันธงว่าไม่เหมาะสมนั้นก็คงจะไม่กล้า แต่เอาเป็นว่าเรามาทำความเข้าใจที่มาที่ไปว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีแนวคิดรวบยอดให้เรานำไปปฏิบัติอย่างไรบ้าง


ก่อนอื่นต้องขออ้างถึงก่อนว่า มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้เขียนโดยนักบัญชี ซึ่งมีจำนวนอยู่กว่า 300 หน้า ทำให้ภาษาส่วนใหญ่เป็นภาษาของนักบัญชี และจะเป็น Principles-based Accounting (ไม่ใช่ Rules-based Accounting อีกต่อไป) ทำให้การอ่านมาตรฐานฉบับนี้ ต้องอ่านด้วยดวงตาที่สาม เพื่อตีความถึงหลักการที่ควรจะเป็น และการนำหลักการไปปฏิบัติอีกทีให้เหมาะสม


ดังนั้น เวลาอ่านมาตรฐานฉบับนี้แล้ว ก็ควรจะพยายามทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ว่า “ทำไปเพื่ออะไร” ไปด้วยเช่นกัน เพราะมาตรฐานฉบับนี้จะเป็นการเปลี่ยนพื้นฐาน และวิธีคิดของสัญญาประกันภัยทั้งหมด (เป็น Fundamental Change) เรียกว่าเป็น Lifetime Event ที่ 100 ปี จะมีการเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้หนหนึ่ง (ขนาดถกเถียงกันมาจนสรุปกันได้ ก็ใช้เวลาไปเกือบ 20 ปีไปแล้ว) ยิ่งเป็นทางฝั่งของธุรกิจประกันชีวิตก็จะมีผลกระทบมาก ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างแรกก็คือการรับรู้รายได้ที่จะลดลงไปมาก (แต่กำไรยังเท่าเดิม) และการเปลี่ยนวิธีรับรู้รายได้ ซึ่งทำให้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเบี้ยประกันภัยทางฝั่งวินาศภัยได้



ทำไมจึงต้องเปลี่ยน?

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ ซึ่งเรียกว่า IFRS 4 สัญญาประกันภัยนั้น ยังมีข้อกังขาอยู่หลายประเด็นที่ทำให้นักลงทุนหรือคนที่อ่านงบการเงินยังคงมีความคลางแคลงใจอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น การที่มาตรฐานเปิดกว้างให้ใช้หลักการทาง Generally Accepted Accounting Principles (GAAP) ของประเทศตนเองได้ ซึ่งนั่นก็แปลว่าประเทศใครประเทศมัน


จึงไม่แปลกเลยว่า มาตรฐาน IFRS 4 ของประเทศไทย (เรียกว่า IFRS 4) นั้น มีความแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ค่อนข้างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วิธีการคำนวณสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ยังแปลกตาไม่เหมือนใคร

 

นอกจากนี้แล้ว มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่องสัญญาประกันภัยในปัจจุบัน ยังเปรียบเทียบบริษัทประกันภัยด้วยกันเองยากอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทประกันชีวิตด้วยกันเอง ยังไม่สามารถเปรียบเทียบกันเองได้ด้วยนิยามเฉพาะของตัวเอง รวมไปถึงการลงบัญชีต่าง ๆ ยังค่อนข้างแตกต่างกัน ซึ่งก็ยังส่งผลให้เปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นไม่ได้ด้วย


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทประกันชีวิตรับเบี้ยประกันชีวิต 1 ล้านบาท ถ้าจัดประเภทเป็นสัญญาประกันภัย (Insurance Contract) ก็สามารถจะนำตัวเลข 1 ล้านบาท ใส่เข้าไปในงบการเงิน และรับรู้เป็นรายได้ทั้งก้อน แต่ถ้าเงิน 1 ล้านบาทนั้นไปถูกใส่ในธนาคารเป็นเงินฝากนั้น ธนาคารจะไม่สามารถนำตัวเลข 1 ล้านไปเป็นรายได้ แต่จะลงบัญชีได้เฉพาะค่าธรรมเนียมเท่านั้น และด้วยปรากฎการณ์แบบนี้เอง จึงทำให้การขายประกันผ่านทางธนาคารนั้นสามารถรับรู้ยอดขายได้ทั้งก้อน ซึ่งปรากฎให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอว่ายอดขายพุ่ง และเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแบบประกันที่เน้นไปทางสะสมทรัพย์ ที่สามารถรับรู้ทางอ้อมในส่วนของเงินฝากไปเป็นรายรับด้วย (ต่างกับธนาคารจะไม่สามารถรับรู้เงินฝากที่ได้รับมา มาเป็นรายได้เลย เพราะอนุญาตให้นำค่าธรรมเนียมมาเป็นรายได้เท่านั้น)


สรุปแล้ว เมื่อนำมาตรฐานตัวใหม่นี้มาใช้แล้ว งบการเงินของธุรกิจประกันชีวิต จะสามารถเปรียบเทียบกับธุรกิจประกันวินาศภัยได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้อีกด้วย



เริ่มเมื่อไร?

ก่อนจะลงลึกไปกว่านี้ เรามามองว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้เริ่มเตรียมพร้อมกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้อย่างไรบ้าง โดยมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (IFRS) ต่าง ๆ ได้มีมติมาจาก International Accounting Standards Board (IASB) ซึ่งมาจากทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ประเทศในแถบนี้ตื่นตัวกันมาก โดยตอนนี้มีข้อตกลงร่วมกัน และได้เลื่อนวันเริ่มใช้จากวันที่ 1 มกราคม 2564 ไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2566 ส่วนในเอเชียเองนั้น ก็จะมี มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ที่ได้ยินมาว่าจะเริ่มพร้อม ๆ กับทางฝั่งยุโรป แถมประเทศจีนก็มีการแปลเป็นภาษาของตัวเอง และปรับใช้มาตรฐานฉบับนี้ให้สอดคล้องกับบริบทของตนเองอีกด้วย ส่วนอินเดียนี่ไม่ได้ใช้ IFRS โดยตรง แต่ใช้มาตรฐานที่ชื่อ “Ind AS” ซึ่งเป็นมาตรฐานบัญชีที่คล้ายกับ IFRS 17 และเริ่มปฏิบัติใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567


อีกประเทศที่ต้องจับตามองก็คือ สหรัฐอเมริกาที่ไม่เอาด้วยกับ IFRS 17 เลย แต่ก็จะยังยึดถือมาตรฐานของเขาเอง ที่เรียกว่า U.S. GAAP (Generally Accepted Accounting Principles) ที่อเมริกาเองใช้กันมานมนานครับ (เลยไม่ยอมเปลี่ยน แถมเคยประกาศออกมาว่าจะทำ U.S. GAAP phase 2 ออกมาข่มอีก ซึ่งคนนำมาปฏิบัติคงสนุกกันน่าดูเลยครับ เพราะต้องเข้าใจทั้งสองมาตรฐานนี้ไปพร้อม ๆ กัน)

 

กลับมาที่ประเทศไทยกันดีกว่าครับ โดยของประเทศไทยนั้น จะใช้หลังจากที่คนอื่นใช้กันมา 2 ปี ซึ่งก็คือจะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2568 แต่อย่าลืมว่าเวลาจะนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่มาใช้นั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ก็โผล่ตัวเลขใหม่มาเลย มันจะต้องมีการเปรียบเทียบกับตัวเลขของงบการเงินในปีที่ผ่านมาด้วย (เพราะการดูตัวเลข ไม่ได้ดูที่ผลลัพธ์ในตอนนั้น แต่ต้องดูถึงการเปลี่ยนแปลง และทิศทางจากปีที่ผ่านมาด้วย นั่นจึงจะถือเป็นการอ่านงบการเงินที่แท้จริง) ซึ่งก็แปลว่า หากจะต้องเริ่มใช้กันในวันที่ 1 มกราคม 2568 นั้น เราจะต้องมีตัวเลขของปี 2567 มาให้เปรียบเทียบด้วย ซึ่งแปลความอีกทีว่า ประเทศไทยนั้นจะต้องทำตัวเลขงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินตัวนี้ ที่ไตรมาส 1 ปี 2567 นั่นเอง ซึ่งก็ถือว่าเรามีเวลาให้เตรียมตัวอีกไม่นานแล้วที่ปลายปี 2567 ควรจะต้องเตรียมพร้อมให้เสร็จ เพราะถ้าใครที่เป็นนักบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เคยนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินไม่ว่าจะฉบับไหนก็ตามมาปฏิบัติใช้ในตอนแรก ก็จะรู้เลยว่าเวลาที่เหลือให้เตรียมตัวนั้นผ่านไปไวมาก จนไม่ทำให้เรามีโอกาสได้เตรียมตัวเลย ราวกับกระพริบตาส่องกระจกแวบเดียว ไม่ทันได้เตรียมตัวอะไร ตีนกาก็ขึ้นเสียแล้ว


TFRS 17 สัญญาประกันภัย


5 ประเด็นของมาตรฐานตัวใหม่ที่เข้าถึงความต้องการของผู้ใช้งบการเงินได้มากขึ้น

เมื่อสอบถามไปทางผู้สอบบัญชีทั่วโลกแล้วได้รับความเห็นพ้องกันว่า การลงบัญชีของธุรกิจประกันภัย (Insurance Accounting Standards) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังมีความไม่ต่อเนื่อง (Inconsistent) ไม่เหมือนกัน (Non-uniform) และไม่โปร่งใส (Non-transparent) ทำให้ความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัยยังมีไม่มากเท่าที่ควร (ดังนั้นจะเห็นว่าหุ้นประกันของบ้านเรา เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง อาจเพราะส่วนหนึ่งมาจากงบการเงินที่แกว่งไปแกว่งมา)​


มาตรฐานตัวใหม่จึงต้องการทำให้เป็นวิธีการที่เหมือนกัน (Single Accounting Approach) ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 Provide up-to-date market consistent information of obligation including value of option & guarantee:

    สมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยต่าง ๆ ที่เป็น forward looking มองไปในอนาคตข้างหน้านั้น ควรจะเป็นตัวใหม่สุด (คล้ายกับวิธีการนำสมมติฐานใหม่มาเพื่อคำนวณมูลค่าประเมิน) ที่มีความสอดคล้องกับตลาด โดยต้องอย่าลืมเรื่องเงื่อนไข สิทธิที่ไปการันตีให้ลูกค้าไว้ (เรียกว่า Option & Guarantee) เช่น บริษัทประกันชีวิตสัญญากับลูกค้าไว้ว่า เงินที่ฝากกับบริษัทนั้นจะให้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า x% เป็นต้น (ถ้าจะกล่าวกันในเชิงเทคนิคของพวกที่การันตีแบบนี้ มันจะเป็นความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เกิดขึ้นจากการไปการันตี บริษัทเลยต้องทำการคำนวณโดยใช้วิธีแบบ Stochastic Modeling เช่นกัน)

  • ประเด็นที่ 2 Reflects time value of money:

    การประมาณการไปข้างหน้าโดยใช้สมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น จะต้องนำกลับมาคิดให้เป็นมูลค่าเงินปัจจุบัน (Present Value) ด้วย ซึ่งทางบริษัทประกันก็ทำเป็นปกติอยู่แล้ว

  • ประเด็นที่ 3 Reflects the characteristics of the insurance contract rather than the risk related to asset / investment activity:

    บริษัทประกันภัยควรจะสะท้อนความเสี่ยงจากตัวสัญญาประกันภัยเท่านั้น ไม่ใช่ไปสะท้อนความเสี่ยงจากทางฝั่งสินทรัพย์หรือจากการลงทุนเข้าไปด้วย

  • ประเด็นที่ 4 Provides separate information about the investment and underwriting performance:

    ปกติแล้ว บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยนั้น จะมีส่วนประกอบของกำไรอยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกเรียกว่า Underwriting Profit ซึ่งก็คล้ายกับกำไรจากการดำเนินงาน โดยเกิดจากการพิจารณารับความเสี่ยงเข้ามา และบริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี เลยเกิดกำไรขึ้น และส่วนที่สองเรียกว่า Investment Profit ซึ่งปกติแล้ว บริษัทจะมีการตั้งเป้าว่าแบบประกันตัวหนึ่ง ๆ ควรจะมีดอกผลจากการลงทุนได้เท่าไร และถ้าบริษัทประกันสามารถลงทุนได้ดอกผลมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะถือว่าเป็นกำไรในส่วนนี้ โดยมาตรฐานใหม่นี้ จะแยกกำไรทั้ง 2 ชนิดนี้ออกมาอย่างชัดเจน เพื่อความโปร่งใส และเห็นส่วนผสมที่มาของกำไรเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

  • ประเด็นที่ 5 Treats service provided by underwriting activity as revenue and expense in a comparable way to other non-insurance business:

    ตัวนี้คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการที่ทั่วโลกอยากจะเปลี่ยนเป็นมาตรฐานฉบับใหม่นี้ เพื่อที่จะได้ให้บริษัทประกันตั้งนิยามของคำว่า รายรับ/รายได้ และค่าใช้จ่าย สามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกธุรกิจประกันภัยได้ ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เกี่ยวกับเงินฝากธนาคาร เป็นต้น



การแยกส่วนของการลงทุนออกมาจากส่วนของประกันภัย

การแยกส่วนของการลงทุน (Investment Components) ออกมาจากส่วนของประกันภัย (Insurance Components) ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถทำให้ธุรกิจประกันเปรียบเทียบกับธุรกิจของธนาคารได้ ส่วนของการฝากเงิน (Deposit) จึงถูกนำมากล่าวอ้างถึงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวอย่างการเปรียบเทียบระหว่างการฝากเงิน 1 ล้านบาทใส่ในธนาคาร กับการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต 1 ล้านบาท (สำหรับทุนประกัน สมมติที่ 1.1 ล้านบาท) ที่มีการรับรู้รายรับ/รายได้เพื่อบันทึกบัญชีไม่เหมือนกัน


ถ้าใครเคยเห็นมาตรฐานรายงานทางการเงินของสัญญาประกันภัยที่เรียกว่า IFRS 4 (ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) จะเห็นว่าจะมีการแยกประเภทสัญญาที่เรียกว่า สัญญาประกันภัย (Insurance Contract) และสัญญาลงทุน (Investment Contract) อยู่แล้ว ซึ่งเราก็ยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิมนั้นได้อยู่ เพียงแต่สัญญาลงทุน (Investment Contract) นี้ จะถูกมองว่าเป็น Distinct Investment Component และอยู่ภายใต้ IFRS 9 แทน


ส่วนสัญญาประกันภัย (Insurance Contract) นั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้ IFRS 17 แต่ก็ถูกแตกส่วนประกอบออกมาสองส่วน คือ ส่วนของการประกันภัย (Insurance Components) และส่วนของการลงทุน (Non-distinct Investment Components) ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกโฉมอีกจุดหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องนำ IFRS 17 มาใช้


ถ้ายกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คงต้องยกตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ (Whole Life) สมมติว่าทุนประกันภัยคือ 1.5 ล้านบาท และในตอนนั้นมีมูลค่าเวนคืนเงินสด (Cash Surrender Value) อยู่ที่ 1 ล้านบาท เราก็จะนำ 1 ล้านบาทนี้มาพิจารณาว่าเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของเงินฝาก ซึ่งสำหรับ IFRS 17 แล้ว ตัว 1 ล้านบาทนี้จะไม่ถูกใส่ในงบกำไรขาดทุนเลย

ถึงแม้ว่าส่วนของการลงทุน (Non-distinct Investment Components) จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยภายใต้ IFRS 17 แต่ Investment Component ในที่นี้จะถูกดึงแยกออกมา และไม่ได้แสดงในงบกำไรขาดทุนในลักษณะที่ IFRS 17 เรียกว่าเป็น Disaggregation โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวที่เหมือนเงินฝาก (Deposit Components) จะไม่ได้ถูกใส่ในงบกำไรขาดทุนอีกต่อไป


ภาพต่อไปนี้คือ ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างในการคำนวณ Profits or Losses ตามมาตรฐาน IFRS 4 และ IFRS 17


ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างในการคำนวณ Profits or Losses ตามมาตรฐาน TFRS 4 และ TFRS 17

จากภาพจะเห็นว่า

  • ส่วนประกอบของงบกำไรขาดทุนภายใต้ IFRS 4 คือ

    Premium + Investment Income - Incurred Claims & Benefit - Change in Insurance Contract Liability = Profits or Losses

  • ส่วนประกอบของงบกำไรขาดทุนภายใต้ IFRS 17 คือ

    Insurance Revenue - Insurance Services Expense (ISE) + Investment Income – Insurance Finance Expense (IFE) = Profits or Losses


ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น IFRS 4 หรือ IFRS 17 นั้น Profits or Losses + Other Comprehensive Income (OCI) รวมกันก็จะได้ Total Comprehensive Income (TCI) เหมือนเดิม


โดยใน IFRS 17 นั้นได้แยกส่วนของการลงทุน (Investment Components) ออกมาจากส่วนของประกันภัย (Insurance Components) ซึ่งต้องอาศัยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาช่วยแยกส่วนประกอบตัวนี้


ในสมัยที่เป็น IFRS 4 นั้นเวลาที่บริษัทประกันจ่ายเงินออกจากการที่ผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิต (Death Claim) นั้น ก็จะถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเคลม แต่สำหรับ IFRS 17 ที่ต้องลงลึกไปกว่านั้นแล้ว จะต้องแตกส่วนที่เป็นความคุ้มครองที่แท้จริงออกมาเป็นส่วนของประกัน และส่วนที่เหมือนกับการคืนเงินที่ผู้ถือกรมธรรม์ควรจะได้อยู่แล้ว (Release in Cash Surrender Value) ออกมาเป็นส่วนของลงทุน


ยกตัวอย่างเช่น กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทุนประกัน 1.5 ล้านบาท ปรากฎว่าผู้ถือกรมธรรม์เกิดเสียชีวิตขึ้น และมูลค่าเวนคืนเงินสด (Cash Surrender Value) ในขณะนั้นอยู่ที่ 1 ล้านบาท สำหรับ IFRS 17 แล้ว เราจะแบ่งเงินที่ต้องจ่ายออกมา 1.5 ล้านบาท ออกมาเป็น 5 แสนจากความคุ้มครอง (ซึ่งก็คือส่วนเกินของทุนประกันที่มากกว่าเงินสำรอง หรือทางศัพท์เทคนิคก็จะเรียกว่า Net Amount at Risk (NAR)) และ 1 ล้านบาทที่เป็นการ Release มูลค่าเวนคืนเงินสด (Cash Surrender Value) ออกมาเมื่อผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิต จะถือเป็นส่วนของการลงทุน (Investment Components)


ในตัวอย่างเดียวกัน ถ้าลูกค้าขอเวนคืนกรมธรรม์แล้วบริษัทประกันชีวิตก็จะต้องมีการจ่ายเงินออก (Cash Outgo) ซึ่งจะถือว่า IFRS 17 นั้นเป็นส่วนของการลงทุน (Investment Components) เช่นกัน


มีอีกจุดหนึ่งที่ตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่าใน IFRS 17 นี้ จะไม่มีเบี้ยค้างรับ (Premium Receivable) หรือ เบี้ยรับล่วงหน้า (Advance Premium) อีกต่อไป ในส่วนของการบันทึกรายรับ/รายได้ (Insurance Revenue) จะพิจารณาจากการส่งมอบบริการตามหลักบัญชี (Service on Earned Basis) ซึ่งถ้าทำแบบนี้แล้วจะทำให้สอดคล้องกับธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจประกันภัย


สำหรับงบดุล หรืองบแสดงฐานะการเงิน ความแตกต่างที่เกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนจาก IFRS 4 มาเป็น IFRS 17 คือดังภาพต่อไปนี้


ตารางงบแสดงฐานะการเงิน ความแตกต่างที่เกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนจาก TFRS 4 มาเป็น TFRS 17 

จะเห็นว่า IFRS 17 นั้นรวบทุกอย่างเอาไว้เป็น Insurance Contract Assets/Liabilities หรือ Reinsurance Contract Assets/Liabilities ไว้หมด เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงผลที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบดุลของ IFRS 17 นั้นจะไม่ได้มีการแสดงเบี้ยค้างรับ (Premium Receivable) ว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset) อีกต่อไป ทั้งนี้ Acquisition Cost ก็ไม่ได้แสดงออกมาอยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) เช่นกัน หากแต่เรื่อง Deferred Acquisition Costs ในเชิงเทคนิคของ IFRS 17 นั้นจะถูกฝังอยู่ในรูปแบบการคำนวณหนี้สิน (Insurance Contract Liabilities) และถูกทยอยรับรู้ในรูปแบบของหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย และฝังอยู่ในส่วนหนึ่งของ Contractual Service Margin (CSM) ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป



ประเภทสัญญาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางการบัญชีฉบับที่ 17

ในมาตรฐานใหม่นี้ มีนิยามของสัญญาประกันภัยอยู่ 2 ตัว คือ สัญญาที่มีภาระผูกพันเกินควร (Onerous Contract) และสัญญาที่มีกำไร (Contractual Service Margin: CSM) ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของมาตรฐานฉบับนี้ โดยเราจะเรียกว่า เป็นความไม่สมมาตร หรือ อสมมาตร (Asymmetric) ของการรับรู้กำไรในสัญญาประกันภัย


  1. Onerous Contract คืออะไร

    Onerous แปลว่า เป็นหรือสร้างภาระ หรือมีภาระผูกพันเกินควร ดังนั้น Onerous Contract จึงแปลว่า สัญญาที่มีภาระผูกพันเกินควร หรือแปลเป็นไทยได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นแบบประกันที่ขาดทุน เนื่องจากสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยในมาตรฐานฉบับนี้จะถูกสะท้อนภาวะตลาดอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าแบบประกันจะถูกออกแบบมาให้มีกำไร แต่เมื่อนำมาขายแล้ว ในอนาคตก็อาจจะขาดทุน เนื่องจากสภาพตลาดในขณะนั้นก็เป็นได้ (เช่น ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำกว่าตอนออกแบบไว้แต่แรก เป็นต้น)


    สัญญาประกันภัยที่ประเมินแล้วขาดทุนในตอนที่นำออกมาขายจะถูกตีตราว่าเป็น Onerous Contract (สัญญาที่มีภาระผูกพันเกินควร) และจะต้องรับรู้การขาดทุนทั้งก้อนทันที ตัวอย่างเช่น เราเห็นว่าสัญญาประกันภัยตัวนี้มีระยะเวลา 10 ปี และจะขาดทุนต่อเนื่องปีละ 10 ล้านบาท เวลารับรู้การขาดทุนในงบกำไรขาดทุนนั้นจะต้องรับรู้สะท้อนว่าขาดทุนเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท ในทันที (ปีละ 10 ล้านบาท 10 ปี สมมติไม่มีอัตราคิดลดมาเกี่ยวข้อง)


  2. Contractual Service Margin (CSM) คืออะไร

    Margin ในที่นี้จะหมายถึงกำไร แบบที่เราชอบเรียกกันว่า Profit Margin แต่ในมาตรฐานใหม่ตัวนี้ จะใช้คำว่า Service Margin เพราะมองว่าเป็นกำไรจากค่าธรรมเนียม (Service Fees) นั่นเอง เนื่องจากมาตรฐานนี้จะไม่รับรู้เบี้ยประกันว่าเป็นรายรับ/รายได้อีกต่อไป (ทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็นค่าธรรมเนียมหมด) และเนื่องจากมาตรฐานใหม่นี้จะอยู่บนโลกของค่าธรรมเนียมเวลาเรียกกำไรของสัญญาประกันภัย จึงเรียกว่า Contractual Service Margin (CSM)


สัญญาประกันภัยที่ประเมินแล้วกำไรในตอนที่นำออกมาขาย จะมี Contractual Service Margin (CSM) ซึ่งไม่สามารถรับรู้ว่าเป็นกำไรทั้งก้อนได้ในทันที แต่จะต้องนำมาเกลี่ยเฉลี่ยออกไปตามอายุของสัญญานั้น ยกตัวอย่างเช่น


“สัญญาประกันภัยตัวนี้มีระยะเวลา 10 ปี และจะมีกำไรเป็นมูลค่าปัจจุบันทั้งหมด 100 ล้านบาท เวลารับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุนนั้น จะไม่สามารถรับรู้ 100 ล้านบาท ทั้งก้อนได้ แต่จะต้องเอา 100 ล้านบาทนั้น มาทยอยรับรู้ตลอดระยะเวลา 10 ปีของสัญญาประกันภัยนั้น เสมือนหนึ่งเราเอา 100 ล้านบาทที่คิดว่าจะได้กำไรทั้งหมด ในวันที่ออกกรมธรรม์ให้นั้น เทใส่ลงไปในเขื่อนกันสำรองเอาไว้”


และเมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อย ๆ ผันน้ำออกจากเขื่อน ทยอยรับรู้กำไรออกมา บางครั้งอาจจะเรียก Contractual Service Margin (CSM) ว่า Profit Reserve ก็ไม่ผิดนัก


เมื่อเปรียบเทียบ Onerous Contract กับ Contractual Service Margin (CSM) แล้วจะเห็นว่า เวลาขาดทุนนั้นจะต้องรับรู้การขาดทุนทั้งก้อนทันที แต่เวลากำไรนั้นจะต้องทยอยผ่อนรับรู้ไปทีละนิดตลอดอายุสัญญา จึงทำให้มาตรฐานใหม่นี้รับรู้กำไรขาดทุนแบบไม่สมมาตร เรียกว่า “มีสุขต้องทยอยเสพ มีทุกข์ต้องรับรู้ให้หมดจดในทีเดียว”


 สภาวิชาชีพบัญชี ใช้คำว่า "สัญญาที่สร้างภาระ" แต่ชอบคำว่า "สัญญาที่มีภาระผูกพันเกินควร" นี้มากกว่านะครับ เราอาจจะคงคำนี้ไว้ก็ได้ เพราะเราเขียนบทความแชร์ความรู้เฉย ๆ ซึ่งวันที่สภาวิชาชีพบัญชีแปลคำว่า Onerous Contract นี้ เป็นวันหลังจากที่เราเขียนบทความนี้ขึ้นมาครับ (ในหน้าเว็บเรา บอกว่าเราเขียนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565)


สัญญาที่สร้างภาระ TFRS 17





























จะทำอย่างไร ถ้าในวันแรกเป็น Onerous Contract แล้วค่อยกลับมามีกำไร

ในเมื่อวันแรกถูกตีตราว่าเป็น Onerous Contract หรือ สัญญาที่มีภาระผูกพันเกินควรไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเรารับรู้เป็นขาดทุนไปทั้งหมดแล้วก็ทำเป็นลืมตัวเลขขาดทุนนั้นไปจากสัญญาประกันภัยได้ ถึงจะรับรู้ไปหมดแล้วเราก็ต้องเก็บตัวเลขที่เคยลงบัญชีว่ารับรู้ขาดทุน (Loss Component) ไปแล้วเท่าไรของแต่ละกรมธรรม์ไว้เสมอ เพราะถ้าเกิดบริหารแล้วมีกำไรขึ้นมาทีหลัง เราจะต้องนำตัวเลขของกำไรที่ว่านี้มาหักกลบลบหนี้จากตัวเลขขาดทุนที่เคยลงบัญชีก่อนหน้านั้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหักจนหมด และถ้ามีส่วนเกินไปกว่านั้น ค่อยมารับรู้ว่าเป็น Contractual Service Margin (CSM) ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็ค่อยเอามูลค่าส่วนเกินที่เป็น CSM มาทยอยรับรู้เป็นกำไรในอนาคตอีกที


ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการรับรู้ขาดทุน (Loss Component) ที่เคยรับรู้จากการเป็น Onerous Contract มานั้นมาตรฐาน IFRS 17 สามารถให้เอาผลจากการเปลี่ยนแปลงของกำไรที่มากขึ้นกว่าที่เคยคาดหวังไว้ในอดีต มาชดเชยได้เท่านั้น แต่จะไม่สามารถเอา กำไรในอดีต มาหักกลบลบหนี้ได้ (เพราะกำไรในอดีตนั้น ถูกคิด และถูกสะท้อนอยู่บนบัญชีงวดก่อนหน้าไปแล้ว)


ยกตัวอย่างเช่น สัญญาประกันภัยระยะเวลา 10 ปี และในวันที่ขายกรมธรรม์ไปนั้นบริษัทได้รับรู้ขาดทุนเป็นจำนวน 100 ล้านบาท (เป็น Loss Component) และสมมติว่าเวลาผ่านไป 3 ปี บริษัทเห็นว่าจะมีกำไรจากอนาคตข้างหน้าเพิ่มขึ้นอีก 70 ล้านบาทซึ่งมากกว่าตอนที่เคยคำนวณไว้ในตอนแรกแล้ว ตามมาตรฐานใหม่นี้ จะให้นำ 70 ล้านไปเติมเป็นกำไรได้ในปีบัญชีนั้นทันที (ไม่ต้องนำมาทยอยรับรู้กำไร แบบ Contractual Service Margin (CSM)) เนื่องจากบริษัทเคยลงบัญชีว่าขาดทุนมาก่อนแล้ว 100 ล้าน โดยกำไรจากอนาคตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นนี้ จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ทำให้คำนวณได้กำไรมากกว่าที่เคยคาดหวังไว้ หรือการคาดการณ์ผลประกอบการจากการดำเนินงานในอนาคตข้างหน้าที่จะดีกว่าสมมติฐานที่เคยตั้งไว้ ซึ่งมีผลทำให้ กระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันกรมธรรม์ (Fulfilment Cash Flows) ลดลง


และเมื่อบริษัทดำเนินงานผ่านไปอีก จนกระทั่งครบ 5 ปี มีกำไรอีก 80 ล้านบาท บริษัทก็จะต้องนำ 80 ล้านบาทนี้หั่นออกมาเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือ 30 ล้าน ที่นำมารับรู้เป็นกำไรได้ทันที เพราะเอามาหักกลบกับสิ่งที่เคยลงขาดทุนสะสมเหลือไว้ 30 ล้าน (เคยรับรู้ขาดทุน 100 ล้านในวันที่ออกกรมธรรม์ และรับรู้กำไรมา 70 ล้านในสิ้นปีที่ 3) และส่วนหลังคือ 50 ล้าน นี้ จะต้องนำมารับรู้กำไรในระยะเวลาที่เหลืออีก 5 ปี (สัญญามีระยะเวลา 10 ปี และตอนที่จะลงบัญชีนี้ครบ 5 ปีพอดี) ซึ่งก็คือ ทยอยรับรู้เป็นกำไร ปีละ 10 ล้านบาท ไปอีก 5 ปี เป็นต้น



จะทำอย่างไร ถ้าในวันแรกมี Contractual Service Margin แล้วขาดทุนทีหลัง

เมื่อทยอยรับรู้กำไรจากการมี Contractual Service Margin (CSM) อยู่ดี ๆ แล้วมีงานเข้า เกิดการประมาณการว่าอนาคตข้างหน้าจะมีการขาดทุนเข้ามาทำให้ต้องนำตัวเลขขาดทุนนั้นมาหักลบกลบกับ Contractual Service Margin (CSM) ที่เหลืออยู่ จากนั้นก็นำมาคำนวณเกลี่ยกำไรสำรองที่เหลือนั้นในระยะเวลาที่เหลือไว้อีกที แปลว่า เวลามี Contractual Service Margin (CSM) อยู่แล้ว และเกิดขาดทุนขึ้นมาในปีบัญชีปีนั้น บริษัทจะยังไม่ได้รับผลกระทบต้องรับรู้การขาดทุนในทันที เพียงแค่เอาไปหักออกจาก Contractual Service Margin (CSM) ที่เหลือสะสมไว้อยู่ ซึ่งอาจจะทำให้ กำไรที่ทยอยรับรู้ในอนาคตนั้นหดตัวลง เท่านั้นเอง


โดยการขาดทุนที่เกิดจากการประมาณการในอนาคตข้างหน้านี้ จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ทำให้คำนวณได้กำไรลดลงกว่าที่เคยคาดหวังไว้ หรือการคาดการณ์ผลประกอบการจากการดำเนินงานในอนาคตข้างหน้าที่แย่กว่าสมมติฐานที่เคยตั้งไว้ ซึ่งมีผลทำให้กระแสเงินสดเพื่อภาระผูกพันกรมธรรม์ (Fulfilment Cash Flows) เพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการรับรู้กำไรจาก Contractual Service Margin (CSM) ในมาตรฐาน IFRS 17 นั้นสามารถให้เอาการเปลี่ยน แปลงของกำไรที่ลดลงกว่าที่คาดหวังมาหักกลบชดเชยได้เท่านั้นแต่จะไม่สามารถเอาการขาดทุนในอดีตมาหักกลบลบหนี้ได้

 


คำนวณเดี่ยวหรือประเมินกลุ่มดี?

สำหรับใครที่เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะรู้ดีว่าเรามีปัญหาที่ต้องอธิบายเกี่ยวกับเรื่องการคำนวณเดี่ยว ประเมินกลุ่มมาตลอด เพราะการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นเป็นการประเมินกลุ่ม และจะตั้งสมมติฐานโดยแบ่งตามกลุ่มความเสี่ยง แต่เวลาคำนวณค่อยเอาสมมติฐานที่กลั่นกรองจากความคิดของเรานั้น ไปคำนวณหยอดใส่ทีละคน


เปรียบเหมือนตอนที่เรากำลังตีส่วนผสมของการทำขนมครก ที่ต้องเอาหลาย ๆ ส่วนผสมมาคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหม้อ แล้วหลังจากเคี่ยวเสร็จ ค่อยเอาส่วนผสมของเรานั้นหยอดเข้าแม่พิมพ์ทีละฝา


ประเด็นอยู่ที่ว่า เวลาจะกวนส่วนผสมนั้น จะจัดกลุ่มอย่างไร ถ้าบริษัทมีความเสี่ยง 5 ชนิด เราก็คงจะกวนส่วนผสมไว้ 5 หม้อ (จะเป็นรสอะไร หรือชนิดอะไร ก็ว่าไปตามนั้น) เราคงไม่ได้กวนทุกสิ่งอย่างไว้ในหม้อเดียวกันใช่ไหมครับ


ดังนั้น เรื่อง Level of Aggregation จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ถูกนำมาเป็นประเด็นก่อน โดยในตอนแรกที่เป็นมาตรฐานใหม่ (ฉบับร่าง) นั้น ได้ระบุว่าจะต้องทำทีละกรมธรรม์เลย ไม่สามารถนำมาจัดกลุ่มได้ แต่มีบางฝ่ายได้ค้านเอาไว้ว่า ทำแบบนั้นมันแทบจะชี่ช้างจับตั๊กแตกเลยทีเดียว ในมาตรฐานใหม่ (ตัวล่าสุด) นี้จึงยอมให้คำนวณเป็นกลุ่มได้

 


การจัดกลุ่มตาม Level of Aggregation

การจัดกลุ่มประเภทของแบบประกันนั้น จะทำกันตอนเริ่มขายกรมธรรม์นั้น ๆ (Policy Inception) ซึ่งเมื่อจัดกลุ่มเข้าประเภทไหนแล้ว จะไม่มีการเปลี่ยนจนกระทั่งหมดอายุสัญญา โดยประเภทของสัญญาประกันภัยนั้นสามารถจัดกลุ่มตามขั้นตอนได้ดังนี้

  1.  ตามพอร์ต (Portfolio)

    โดยให้จัดเป็นพอร์ตก่อน ซึ่งก็คือ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงคล้ายกัน และบริหารทั้งกลุ่มไปด้วยกัน (ในมาตรฐานใหม่ ใช้คำว่า “similar risk and managed together”) ยกตัวอย่างเช่น แบบประกันที่ชำระเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) กับแบบประกันบำนาญที่จ่ายเบี้ยรายงวด (Regular Premium Annuity) ควรจะอยู่คนละพอร์ตกัน หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น แบบประกันรถยนต์ (Motor) ควรจะอยู่คนละพอร์ตกับ แบบประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้เห็นได้ชัดกันอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เห็นภาพชัดขึ้นในทางปฏิบัติ การแบ่งพอร์ตของแบบประกันเหล่านี้ อย่างน้อยก็อาจจะพิจารณาให้สอดคล้องไปพร้อมกับการจัดประเภทแบบประกัน (Product Categories) ของการทำรายงาน Risk Based Capital (RBC) ส่ง คปภ.ไปด้วยก็ได้


  2. ตามกลุ่ม (Cohort)

    โดยจะให้จัดกลุ่มเฉพาะสัญญาที่ออกห่างกันไม่เกิน 1 ปี ซึ่งมองให้ง่ายก็คือ เวลาจัดกลุ่มนั้น เราควรจัดกลุ่มตามปีที่ขายกรมธรรม์นั้น ๆ เช่น "กรมธรรม์ที่ขายในปี 2017 จะต้องถูกจัดเป็นอีกกลุ่มกับกรมธรรม์ที่ขายในปี 2018 ถึงแม้ว่า แบบประกันนั้นจะเป็นแบบเดียวกัน และขายให้กับคน ๆ เดียวกัน เนื่องจากมาตรฐานใหม่ตัวนี้จะมองว่า การออกกรมธรรม์ในต่างกาลเวลากัน จะมีสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่แตกต่างกันได้ตามภาวะตลาดในตอนนั้น" ถ้าใครเคยได้ประเมินเงินสำรองหรือได้สอบระดับเฟลโล่แบบ U.S. GAAP แล้วก็จะเห็นภาพได้ชัดเจน ว่าการแบ่งตามกลุ่ม Cohort นั้น เป็นหลักการที่หยิบยืมจาก U.S. GAAP มาใช้


  3. ตามความสามารถของการทำกำไร (Profitability)

    โดยต้องขอเท้าความกันก่อนว่า ตอนที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยคำนวณเบี้ยประกันภัย ก็จะคำนวณกำไรเอาไว้แล้วว่าถ้าขายไปแล้วจะได้กำไรเท่าไรบ้างในแต่ละปี ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงสามารถจะบอกได้ว่าแบบประกันที่กำลังจะขายอยู่นั้นมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร (ในภาวะตลาดที่กำลังจะขายอยู่ในขณะนั้น) ด้วยเหตุนี้ การจัดกลุ่มตามประเภทของกำไรนี้ จึงจะจัดว่าสัญญาประกันภัยนี้อยู่ในรูปแบบที่เป็น Onerous Contract หรือไม่

    • Onerous Contract ถือเป็นกลุ่มแรกเลย แปลว่า ขาดทุนชัวร์ตั้งแต่ตอนขาย จึงควรจะแยกกลุ่มออกมา ประมาณว่าเป็นไวรัสที่ต้องถูก quarantine กักบริเวณไว้ไม่ควรถูกรวมกลุ่มกับตัวที่มีกำไร ไม่อย่างนั้นแล้วคนที่อ่านงบการเงินจะไม่รู้ว่าตัวไหนกำไรหรือขาดทุนกลายเป็นการมี subsidize (กำไรกับขาดทุน ซุกซ่อน เอาไว้ด้วยกัน เพื่อให้ภาพรวมดูมีกำไร) และทำให้ดูไม่โปร่งใส ดังนั้น แบบประกันที่เข้าข่าย Onerous Contract จะถูกบังคับให้สะท้อน (Timely Reflection) การขาดทุนทั้งหมดในทันที

    • No Significant Possibility of Becoming Onerous จัดเป็นกลุ่มที่เรียกกันว่า กำไรชัวร์ตั้งแต่ตอนขาย (Profitable Group) ซึ่งจะไม่ยอมให้สะท้อนผลกำไรทั้งหมดในทันที จะต้องทยอยรับรู้เอาไว้จาก Contractual Service Margin (CSM) ไปตลอดอายุสัญญาแทน จึงเกิดสิ่งนี้ที่เรียกว่า Asymmetric Treatment (อสมมาตร) ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกันระหว่าง Profitable Contract (ทยอยรับรู้กำไร) กับ Onerous Contract (รับรู้ขาดทุนในทันที)

    • Other Group เป็นกลุ่มสุดท้าย ซึ่งแปลว่าตอนนี้กำไรอยู่ ยังมองไม่เห็นว่าถ้าขายออกไปตอนนี้แล้วมันจะขาดทุน (แต่อนาคตอาจจะไม่แน่ ถ้าเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น โดยอาจทดสอบได้จากการทดสอบความไว (Sensitivity Test) หรือ ใช้ข้อมูลภายใน (Internal Information) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการประมาณการในอนาคต เป็นต้น) ซึ่งขอแปลอีกครั้งว่า กลุ่มนี้คือ กำไรแต่ไม่ชัวร์ มีโอกาสกลายเป็น Onerous Contract ในอนาคตได้ เวลาจัดกลุ่มจึงต้องดูจากกลุ่มกว้าง ๆ เช่นระดับพอร์ต (Portfolio) เสียก่อน เมื่อจัดพอร์ตแล้ว จึงค่อยมาดูเรื่องกลุ่ม (Cohort) แล้วค่อยลงมาในระดับลึกสุดคือ ประเภทของกำไร ว่าเป็น Onerous หรือไม่


ยกตัวอย่างเช่น บริษัทนี้มีอยู่ 3 พอร์ต (Portfolio) แต่ละพอร์ต มี 4 กลุ่ม (Cohort) และแต่ละกลุ่มจะมีชนิดของกำไรอยู่ 2 ประเภท คือ แบบ Onerous และแบบ Profitable ดังนั้น เวลาเราจัด Level of Aggregation จึงมี 3 x 4 x 2 = 24 กลุ่มย่อย นั่นเอง ซึ่งถึงแม้ว่ากรมธรรม์จะมี 1 ล้านกรมธรรม์ เราก็จะคำนวณทั้งหมด 24 ครั้ง (เหมือนมีหม้อขนมครก 24 หม้อ แต่หยอดการคำนวณลงไป ได้ขนมครกออกมา 1 ล้านฝา)


อนึ่ง มีคนเคยถามว่า สำหรับธุรกิจประกันชีวิตแล้ว เราจะต้องแบ่งสัญญากรมธรรม์หลัก กับสัญญาเพิ่มเติมออกจากกันหรือไม่ เพราะบางครั้งเราก็คำนวณเบี้ย และขายแยกกัน แต่เวลาขาดอายุ (Lapse) ส่วนใหญ่จะทำพร้อมกัน อย่างนี้เราควรมองว่ารวมหรือแยกออกจากกันดี โดยมีหลักการคร่าว ๆ ให้ว่า ให้เปรียบเทียบสัญญาหลักอย่างเดียว (Basic Only) กับสัญญาหลักที่แนบสัญญาเพิ่มเติม (Basic + Rider) นั้นมีความแตกต่างของความเสี่ยง (Nature of Risk) หรือไม่ ถ้าการแนบสัญญาเพิ่มเติมเข้าไปแล้ว ทำให้ความเสี่ยงในองค์รวมทั้งหมดเปลี่ยนจริง ก็ควรจะแยกออกจากกัน


ในตอนนี้คณะทำงานของมาตรฐานใหม่นี้มีแนวโน้มว่าจะให้มองสัญญาหลักที่แนบสัญญาเพิ่มเติม (Basic + Rider) รวมกันเป็นสัญญาเดียวกัน


การประกันภัยต่อ (Reinsurance) TFRS17











การประกันภัยต่อ (Reinsurance)

หลายคนสนใจกับมาตรฐานใหม่นี้ โดยมุ่งเน้นแต่การคำนวณว่าจะคำนวณอย่างไร ลงบัญชีอย่างไร ในตัวสัญญากรมธรรม์ และแล้วก็มีคนถามถึง “แล้วการประกันภัยต่อจะมีผลกระทบอย่างไรในมาตรฐานนี้” ซึ่งพอมาวิเคราะห์ดูแล้ว ไม่ได้มีผลกระทบทาง การเงินอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อยกับการปฏิบัติตามมาตรฐานฉบับนี้


“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทประกันภัย มีการทำประกันภัยต่อ แล้วเป็น Reinsurance Cost ซึ่งเปรียบเหมือนเป็น Onerous ขึ้นมาสำหรับสัญญาประกันภัยต่อ ทำให้ทางฝั่งของบริษัทประกันภัยต่อ เกิด Contractual Service Margin (CSM) ขึ้นนั้น ซึ่งในแนวปฏิบัติของมาตรฐานใหม่นี้ ยังไม่ต้องทยอยรับรู้กำไร แต่ไปหักกลบกับ Onerous ของบริษัทประกันได้เลย”


วิธีปฏิบัตินี้เรียกว่ามาตรฐานใหม่นี้ ยอมให้มี Symmetric Treatment (สมมาตร) สำหรับสัญญาประกันภัยต่อเท่านั้น (ทั้งกำไรทั้งขาดทุนให้รับรู้ทันทีลงไปได้เลย) ซึ่งต่างกับหลักการที่กล่าวมาของ Asymmetric Treatment (อสมมาตร) ของสัญญาประกันภัยทั่วไป ดังนั้นการทำสัญญาประกันภัยต่อจึงต้องมีการเชื่อมโยง (Linkage) กับสัญญาประกันภัยสำหรับมาตรฐานใหม่


 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

Kommentare


bottom of page